งานวิจัย : การเรียนรู้ที่ไร้พรมแดน
“กระบวนการที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พบว่า ครูและผู้บริหารส่วนใหญ่ไม่มีความรู้….” คำกล่าวของ ศ. ดร. สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.สมศ. (คมชัดลึก 17 มีนาคม 2548) ชี้ให้เห็นจุดอ่อนในการปฏิบัติการสอนและการบริหารที่ขาดองค์ความรู้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือขาดการแสวงหาความรู้ในการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.มาตราที่ 27 โดยเฉพาะวรรคที่สอง ซึ่งกล่าวไว้ว่า มาตรา 27 “ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคที่หนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ”
สาระของหลักสูตร ที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ล้วนเป็นความรู้ใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในหลักสูตรเก่า ไม่มีตำรา หรือคู่มือครูให้หยิบฉวยได้ทันที เมื่อครูไม่แสวงหาอย่างจริงจัง ครูก็จะได้สาระที่ผิวเผิน ฟังเขาเล่าว่า...แล้วเล่าต่อ โดยขาดการตรวจสอบความถูกต้อง เพียงเพื่อแสดงอาการเสมือนหนึ่งให้เด็กมีส่วนร่วม และให้เด็กสร้างองค์ความรู้เอง ส่วนครูไม่มีความรู้ร่วมด้วย ผู้บริหารก็เช่นกัน ในยุคปฏิรูปการเรียนรู้ที่ผ่านมาตั้งแต่ 2542 ถึงปัจจุบัน มีทฤษฎี หลักการ แนวคิดการบริหารใหม่ๆ มากมาย ผู้บริหารจะถูกผลักดันให้รับรู้ และปฏิบัติตามรายการคำสั่งจากผู้บริหารระดับที่สูงขึ้น แนวคิดใหม่ๆ หรือบางครั้งก็เป็นของเก่าที่คิดว่าใหม่ พากันไหลบ่าท่วมถมตามกระแสของความตื่นเต้น เมื่อผู้บริหารโรงเรียนขาดความเข้าใจ แต่มีความกลัวที่จะผิดคำสั่ง หรือไม่เหมือนคนอื่น จึงเป็นการฝืนปฏิบัติที่ไม่สร้างสรรค์ เหนื่อยด้วยท้อด้วย และทำให้ครูผู้ใต้บังคับบัญชาพลอยลนลานขาดสติในการปฏิบัติเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี ผู้เขียนยังมีภาพติดตาอยู่ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2547 ที่เห็นครูในโรงเรียนเล็กๆ ในชนบทแห่งหนึ่ง นั่งคัดลอกแผนการสอน บันทึกการสอน และรายงานวิจัยในชั้นเรียนของครูตัวอย่าง ครูต้นแบบที่หาได้ ให้กลายเป็นผลงานเชิงประจักษ์ของเขาเอง เพื่อส่งประเมินเลื่อนตำแหน่งตามนโยบายส่งเสริมครูของรัฐ ครูหลายคนกล่าวขอโทษแขกที่มาเยือนที่ไม่มีเวลาต้อนรับ เพราะวันนี้เป็นวันสุดท้ายของการกำหนดส่ง นี่เป็นเรื่องเศร้าสำหรับผู้เขียนมาก เพราะเราเป็นเครือข่ายของการพัฒนาการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน ครูใหญ่ก็รู้สึกเสียใจที่ทำให้ผู้เขียนผิดหวัง แต่ครูใหญ่ก็ให้เหตุผลที่ได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้วว่า จำเป็นต้องให้ครูคัดลอกส่ง เพราะวิธีการที่ได้รับการส่งเสริมนั้นช้าเกินไป จะทำให้เสียโอกาส และที่สำคัญครูในจังหวัดเขาก็ทำกันร้อนๆ อย่างนี้ (อาจพบได้ในหลายจังหวัด) ถ้าจะถูกตำหนิว่าทำไม่ถูก ก็เป็นการถูกตำหนิเหมือนๆ ดีกว่าที่จะทำให้ลูกน้องพลาดโอกาสเพราะมีผู้บริหารเข้มงวดเกินเหตุ รัฐอาจมีเจตนาต้องการจะให้ (เปล่า) จริงๆ
ความเข้าใจของครูและผู้บริหารจำนวนไม่น้อยต่อ มาตรา 30 ยังคลาดเคลื่อนมาก ทั้งด้วยเจตนาที่จะไม่รับรู้ หรือเป็นสิ่งที่ไกลตัว ยากเกินกำลัง และไม่เห็นความเสียหายที่เกิดทันตาเห็น ในมาตราที่ 30 นี้ กล่าวว่า “ให้สถานศึกษาพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา”
คำว่า วิจัย เป็นคำที่สร้างอารมณ์ให้คนฟังต่างๆ นานา ในยุคที่สังคมมีกระแสนิยมเรียนปริญญาโท (ประมาณ 20-30 ปีแล้ว) ผู้เรียนจะกลัววิจัย หรือวิทยานิพนธ์มาก กล่าวว่าเป็นเสมือนยาขมหม้อใหญ่ เพราะมีคนเรียนไม่จบเพราะติดขัดที่วิทยานิพนธ์ ต่อมาการขยายโอกาสทางการศึกษาในระดับปริญญาโทมากขึ้น หลายสถาบันผ่อนปรน ลดความเข้มงวดในคุณภาพของวิทยานิพนธ์ ผู้เรียนสามารถเลือกสถาบันที่ให้ความรู้สึกที่เป็นมิตรกับวิทยานิพนธ์มากขึ้น หรือมีมิตรช่วยทำวิทยานิพนธ์ในหลายรูปแบบ การเห็นคุณค่าของการวิจัยจึงเป็นเพียงกิจกรรมที่ต้องทำเพื่อแลกกับปริญญาเท่านั้น บางคนถึงกับพูดว่าวิทยานิพนธ์นี้เป็นวิจัยเล่มแรกและเล่มสุดท้ายในชีวิต เมื่อ 2542 พ.ร.บ.กำหนดให้ครูต้องทำวิจัยจึงเป็นความทุกข์ของคนจำนวนมาก มีภาพนึกของวิจัยว่าเป็นงานยาก มี 5 บท มีการใช้สถิติที่ยุ่งยาก และที่สำคัญเป็นเอกสารที่ต้องเขียนตามแบบแผนที่อ่านไม่รู้เรื่อง อารมณ์ของครูกับวิจัยเต็มไปด้วยความสับสน กลัว กังวล และเครียด คิดว่าจะทำอย่างไรดี จะหาตัวอย่างที่ไหนมาเป็นแบบ ไม่ทำได้ไหม ขณะเดียวกัน ฝ่ายวิชาการของกรม กอง หรือโรงเรียนต่างก็จัดอบรมให้ความรู้ครู บ้างก็สร้างโครงการร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับโรงเรียน บ้างก็สร้างทีมเรียนรู้แบบพาทำบ้าง แบบสร้างเครือข่ายเรียนรู้ร่วมกันบ้าง ในช่วงนี้ได้เกิดนวัตกรรมวิจัยแผ่นเดียว มีวิทยากรนำเสนอตัวอย่างในการประชุมระดับชาติ ได้ตัวอย่างจากต่างประเทศ ว่าเป็นรูปแบบวิจัยง่ายๆ ที่ครูทำได้อย่างด่วนๆ สามารถนับชิ้นและแจงนับเป็นผลงาน ไม่ช้าไม่นานความนิยมการทำวิจัยแผ่นเดียวก็ปรากฏเป็นนโยบายของบางหน่วยงาน แต่สิ่งที่ได้จากงานวิจัย ส่วนมากเป็นเอกสารที่โรงเรียนนำมาแสดงนับจำนวนเป็นยอดรวมในเอกสารประเมินตนเอง (SAR)
นี่คือ กระแสการรับรู้ และเลียนแบบ แต่มิใช่การเรียนรู้วิจัยที่แท้จริง ในศาสตร์แห่งความจริงให้ความหมายของการวิจัยว่าเป็นวิธีการ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นความรู้ที่ให้คุณค่า เกิดความเจริญงอกงาม ทำให้เกิดสิ่งดีงาม มิใช่นับชิ้น โชว์เล่ม และแน่นิ่ง ผู้เขียนหวังว่าการเรียนรู้ของครูและผู้บริหารโรงเรียนนับแต่ พ.ศ. นี้ไป จะร่วมกันทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา มีการเรียนรู้ที่ถูกต้องสร้างสรรค์มากขึ้นๆ ครูจะเป็นผู้เรียนรู้ที่เป็นครูมืออาชีพ เช่นเดียวกับมีผู้บริหารมืออาชีพ
ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของครู ตอนหนึ่งว่า “ความรู้มีทั้งความรู้ทางโลกและความรู้ทางธรรมเป็นคู่แฝดกันและส่งเสริมซึ่งกันและกัน หากผู้เรียนได้เรียนเฉพาะความรู้ทางโลก เขาจะขาดคุณธรรมกำกับความรู้ รู้จริงแต่อาจเบียดเบียนหรือทำร้ายทั้งตนและคนอื่นได้ ครูจึงต้องเรียนรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมและรู้วิธีที่จะถ่ายทอดหรือสนับสนุนให้ผู้เรียนเรียนได้ เรียนทั้งสองด้าน”
การวิจัยในห้องเรียน จึงเป็นการแสวงหาว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การวิจัยในโรงเรียน จึงเป็นการแสวงหาคำตอบที่จะทำให้โรงเรียนเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ บรรยากาศในห้องเรียน ในโรงเรียน หรือ อีกนัยหนึ่งคือในสังคมของเราจะเต็มไปด้วยคำถาม ข้อสงสัย ที่ผู้บริหาร ครู นักเรียน ตลอดจนผู้ปกครองช่วยกันตามหาคำตอบที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นความเจริญ เป็นธรรมดาที่สังคมอย่างโรงเรียนจะตั้งใจทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดซึ่งแตกต่างกับสังคมอื่นตรงที่ โรงเรียนมีครูและผู้บริหารที่เป็นบุคคลระดับคุณภาพของสังคม การคาดหวังให้ครูและผู้บริหารทำวิจัยเพื่อพัฒนาสังคมให้เกิดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนมีความใฝ่รู้ และเป็นผู้สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต จึงเป็นสิ่งที่เราต้องทำและประเมินได้
ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ ได้กล่าวไว้เนื่องในงานยกย่องผลงานวิจัยในชั้นเรียนของสมาคมวิจัยสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า “งานวิจัยที่น่าตื่นเต้นและประทับใจอย่างยิ่ง คืองานวิจัยของครูในชั้นเรียนธรรมดา ผู้วิจัยตั้งโจทย์ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน จัดกระบวนการเรียนรู้ที่มองเห็นความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทุกขั้นตอนมีความสนุกสนานเบิกบานใจ และมีผลการวิจัย ที่บอกการพัฒนานักเรียนได้ชัดเจน”
ผลงานวิจัยสะท้อนถึงการเป็นครูมืออาชีพ ผลงานที่ได้รับการยกย่องมีทั้งหมด 11 เรื่อง เรื่องที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม คือ เรื่อง การสร้างหนังสือ “เรียนภาษาไทยด้วยเรื่องเล่า” เป็นสื่อการเรียนรู้บูรณาการในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมปีที่ 2 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย นางพรทิพย์ แก้วบุญเรือง และ คณาจารย์อีก 7 คนที่สอนระดับชั้นเดียวกัน ผลงานวิจัยเกิดจากการปฏิบัติการสอนอย่างตั้งใจ เน้นประโยชน์สูงสุดที่ผู้เรียน และใช้กระบวนการทำงานแบบร่วมมือทั้งครูและนักเรียน ทำให้เกิดผลงานและการเรียนรู้ที่น่าชมเชย
จากการนำเสนอผลงานวิจัยของครูเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2548 เป็นที่ประจักษ์ในภูมิรู้และการใฝ่รู้ของครูไทย สร้างความมั่นใจได้ว่าในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า การศึกษาไทยจะสามารถเร่งพัฒนาคุณภาพเพื่อเด็กไทย ดังคำปรารภของ ศาสตราจารย์ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ที่กล่าวนำข้างต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น