วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วิเคราะห์การสื่อสารยุคไร้พรหมแดน จะมาแทนที่ วิทยุ/ทีวี ดร.สมัย เหมมั่น




การพัฒนาการสื่อสารทุกวันนี้ ต้องติดตามและรู้จักวิธีการใช้งาน มิฉะนั้น วิทยุที่อยู่ที่บ้านและทีวี จะต้องเก่าเก็บ


ในอนาคตเราอาจจะไม่มีใครมีทีวีหรือวิทยุที่บ้านสำหรับดูรายการอะไร มีเพียงคอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็กทำหน้าที่ทุกอย่างการออกอากาศเพลง หนัง หรือ รายการบันเทิง หนึ่งครั้งจากที่ไหนก็ได้ในโลกก็อาจทำให้คนได้ยินพร้อมกันทั่วทั้งโลก

ใครๆ ก็คงเคยเจอกับปัญหาอมตะนิรันดร์กาลในการรับสื่อในยุคอนาล็อคที่ต้องคอยรอให้ถึงเวลาที่ออกอากาศ หรือถ้าเป็นเพลงก็ต้องโทรไปขอให้ดีเจเปิด ถ้าเป็นหนังสือก็ต้องคอยดูเวลาวางแผงแล้วรีบไปซื้อ เพราะถ้าพลาดจากเวลาที่ออกอากาศและวางแผง อาจจะไม่ได้อ่าน ได้ดู หรือได้ฟังอะไรที่อยาก

อีกปัญหาอมตะนิรันดร์กาลก็คือ สื่อที่มีอยู่ไม่เอาละครแบบนี้มาออกอากาศ ไม่เอารายการแบบนี้มาแพร่ภาพ ไม่เอาเพลงแบบนี้มาเปิดให้ฟัง ดังนั้น จึงต้องขวนขวายไปหาอะไรที่ชอบที่อยากมาสนองความต้องการของตัวเอง

ทีวี วิทยุ และหนังสือ อาจเป็นตัวกำหนดทุกสิ่ง ในฐานะเกทเวย์ก็จริง แต่ในปัจจุบันนี้ไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว เพราะใครๆ สามารถดูหนังได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่หนังโป๊ไปจนถึงหนังใหม่ที่เพิ่งออกโรง แค่มีคอมพิวเตอร์พร้อมอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและบัญชีธนาคารที่พร้อมจะสั่งจ่ายได้ทั่วโลก

เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว บางครั้งเราสามารถดูรายทีวีได้สบายๆ จากการเข้าเว็บไซต์ของสถานีโดยตรงอย่าง Fox, CBS, CNN เพื่อเข้าไปชมรายการประจำอาทิตย์หรือดูรายการข่าวที่เกิดขึ้น ซึ่งงานนี้เป็นบริการฟรีที่ใครมีเครื่องสมรรถนะสูงหน่อยก็สามารถดูได้

และแม้เราอาจจะไม่ได้ดูซีรีส์อย่าง Alias หรือ 24 ผ่านอินเตอร์เน็ต แต่สิ่งที่จะได้ดูก็อย่าง "Late Night Show", เรียลิตี้อาหารอย่าง "Hell Kitchen", เรียลิตี้เมคโอเวอร์ให้สาวเฉิ่มกลายเป็นสาวฮอตอย่าง "Greek to Chic" ฯลฯ

ในเมืองไทยเองนั้นทางช่องโมเดิร์นไนน์เองก็เปิดโอกาสให้ดูรายการบางรายการอย่าง "ถึงลูกถึงคน","คุยคุ้ยข่าว" ย้อนหลังผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ และทุกอย่างนี้ก็ฟรี

ส่วนใครที่อยากจะดูรายการต่างๆ ของช่อง 7 อย่างละครก็สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.trueworld.net หรือจะเป็นบริการ IPTV ในเว็บของ www.truetv.in.th ที่มีรายการให้เลือกมากมาย แค่สมัครเป็นสมาชิกแล้วก็มีบัญชีธนาคารแค่นี้ก็สามารถเข้าไปใช้บริการได้แล้ว โดยเสียเงินในการดูแต่ละรายการไม่มายนักประมาณ 10-20 บาทเท่านั้น ทั้งแบบดูได้ครั้งเดียวหรือดูซ้ำรายการนั้นได้ทั้งเดือน

นอกจากนี้ เรายังสามารถหาฟังเพลงใหม่ๆ จากสถานีวิทยุหลายๆ สถานีทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศที่สามารถหาได้ตามมีการออกอากาศผ่านทางอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และยังมีเว็บไซต์สำหรับฟังเพลงใหม่อย่าง www.kapook.com, www.doo-dd.com, www.jorjae.com ฯลฯ

และถ้าใครมี iPODs ก็คงจะรู้จักบริการขายเพลงออนไลน์ iTunes ที่จะอัพเดทให้คนได้ฟังเพลงพร้อมกันทั้งที่อเมริกา, อังกฤษ, เมืองไทย, ปาปัวนิวกินี ฯลฯ ไม่ว่าที่ไหนในโลกขอเพียงใช้อินเตอร์เน็ตได้ก็เพียงพอแล้ว

ที่ยิ่งไปกว่านั้นปัจจุบันยังมีสิ่งที่เรียกว่า File Sharing หรือ P2P (Peer to Peer) ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนไฟล์กันระหว่างผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากการแลกเปลี่ยนไฟล์กันในโปรแกรมแช็ตยุคแรกอย่าง PIRC, MIRC, ICQ โดยมีโปรแกรมอย่าง Napster เป็นคนเปิดแนวทางใหม่นี้ขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนเพลงเก่าที่หายากเพลงอินดี้หรือเพลงของศิลปินใหม่ๆ ประกอบกับที่หลายคนรู้สึกว่าวงการเพลงในยุค "90s ชอบที่จะทำเพลงดีๆ ออกมาเพียง 2-3 เพลงผสมกับเพลงคุณภาพต่ำหลายเพลงเพื่อให้เต็มอัลบั้ม

แต่ในภายหลัง Napster ก็ถูกฟ้องขอให้ปิดกิจการด้วยข้อกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์บริษัทเทปต่างๆ โดยปัจจุบันนั้น Napster ถูกซื้อไปโดย Roxio Inc. และเปลี่ยนเป็นบริการขายเพลงออนไลน์ ของวอร์เนอร์มิวสิค กับโซนี่/บีเอ็มจี

อย่างไรก็ตาม Napster ก็เปิดช่องทางใหม่ๆ ทำให้เกิดโปรแกรมและเว็บไซท์ที่แชร์ไฟล์มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะแชร์กันในเรื่องของเพลงแล้วและยังเลยไปถึงหนัง, มิวสิควิดีโอ, รายการโทรทัศน์, ละคร และคาราโอเกะ

ที่ยิงไปกว่านั้นเดี๋ยวนี้ยังมีโปรแกรม P2P ที่สำหรับดูรายการโทรทัศน์อย่าง TVUnetworks,

Cybersky-TV, Feidian, MySee, PeerCast, PPLive, PPStream, Octoshape, SopCast, TVants, TVKoo หรือ Synacast ที่สามารถทำให้คอมพิวเตอร์เครื่องเดียวสามารถดูรายการอะไรก็ได้ที่มีการออกอากาศผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เรียกว่าเป็น Napster ภาคโทรทัศน์ก็ไม่ผิดนัก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นจะถูกฝ่ายผู้ผลิตผลงานโจมตีในเรื่องของลิขสิทธิ์แต่ว่าปัจจุบันนั้นเป็นระบบที่ไม่มีเซิร์ฟเวอร์ตัวกลางในการดำเนินงานซึ่งยากแก่การฟ้องร้องและบังคับใช้อำนาจศาลในการปิด

ที่สำคัญก็คือเรื่องที่ว่าการแชร์ไฟล์กันนั้นเป็นตัวทำลายธุรกิจเพลง ที่จริงแล้วก็อาจจะใช่ แล้วไม่ใช่เพราะกรณีของอัลบั้ม "Kid A" ที่ออกในปี 2000 ของ Radiohead ซึ่งเป็นอัลบั้มที่มีการตั้งความหวังไว้ต่ำมากเพราะว่าเพลงในอัลบั้มนั้นส่วนใหญ่เป็นงานทดลองและฟังยากแถมยังไม่ได้รับการเปิดในสถานีวิทยุเท่าที่ควร แต่อัลบั้มนี้รั่วเข้าเครือข่ายของ Napster ก่อนอัลบั้มออกถึง 3 เดือน

ถ้าเป็นตามทฤษฎีที่การแชร์ไฟล์ทำลายธุรกิจเพลง Kid A น่าจะเจ๊งไม่เป็นท่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมันเปิดตัวติด 20 อันดับแรกของอัลบั้มขายดีและขึ้นชาร์ตในอันดับ 1 ในวันเปิดตัว ชนะศิลปินที่มีการโฆษณาหนาแน่นอย่าง มาดอนน่า และ เอมิเนมได้ แถมวงดนตรีรุ่นใหม่มาแรงในอังกฤษยังให้สัมภาษณ์กับ โรลลิ่งสโตน ว่าพวกเขาก็ใช้วิธีเผยแพร่เพลงของตัวเองผ่านทางอินเตอร์เน็ตเหมือนกัน

ในอนาคตเราอาจจะไม่มีใครมีทีวีหรือวิทยุที่บ้านสำหรับดูรายการอะไร มีเพียงคอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็กทำหน้าที่ทุกอย่าง การออกอากาศเพลง หนัง หรือ รายการบันเทิง หนึ่งครั้งจากที่ไหนก็ได้ในโลกก็อาจทำให้คนได้ยินพร้อมกันทั่วทั้งโลก (ซึ่งอนาคตที่ว่าคงไม่นานเพราะ iPods รุ่นใหม่เล่นได้ทั้งภาพและเสียงแล้ว)

ที่สำคัญมันจะกระทบกับธุรกิจใหญ่ที่สุดหลายๆ ตัวเริ่มจากเพลงซึ่งตอนนี้ ยอดดาวน์โหลดไล่หลังยอดขายซีดีมาไม่ห่าง วงการโทรทัศน์ที่ต่อไปนี้ไม่ใช่แข่งในประเทศแต่แข่งกันทั้งโลก และวงการโฆษณาที่เมื่อรูปแบบสื่อจะเปลี่ยนก็ต้องมาหาวิธีการขายของใหม่ๆ ให้จงได้

และด้วยแนวโน้มแบบนี้อีกไม่กี่ปี ทีวีที่บ้านคงจะต้องย้ายสำมะโนครัวออกไปอยู่พิพิธภัณฑ์แน่ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น