วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
การบริหารจัดการซัพพลายเชน ยุคไร้พรหมแดน ดร.สมัย เหมมั่น
หลายคนต่างสงสัยว่า "ซัพพลายเชน" นั้นสำคัญไฉน จึงทำให้หลายๆ องค์กรต่างลุกขึ้นมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านซัพพลายเชน เนื่องด้วยภาวะการแข่งขันทางธุรกิจในยุคไร้พรมแดนไม่ใช่แค่การแข่งขันในระดับภูมิภาคอีกต่อไป...แต่เป็นการแข่งขันในระดับโลก จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการวางแผนที่ดีในการลดต้นทุน กำหนดกลยุทธ์ และขั้นตอนในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในระดับนานาชาติ การบริหารจัดการด้านซัพพลายเชนจึงถูกหยิบยกมาใช้งาน เนื่องด้วยเป็นการบริหารต้นทุนทั้งระบบที่สามารถมองภาพรวมทั้งหมด ไม่ได้มุ่งเน้นไปเฉพาะส่วนที่ผลิต ด้านการจัดซื้อ การขนส่ง หรือส่วนที่จัดเก็บเท่านั้น
ระบบบริหารจัดการซัพพลายเชนแบบมหาภาคและจุลภาค
แนวคิดการลดต้นทุนของภาคธุรกิจ โดยการนำระบบบริหารจัดการซัพพลายเชนมาใช้ในการบริหารต้นทุนร่วมกับคู่ค้า นับเป็นแนวคิดใหม่ของการลดต้นทุนของภาคธุรกิจชั้นนำในเมืองไทย ซึ่งขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการหัวก้าวหน้าในหลายอุตสาหกรรมต่างนำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรของตนเองและคู่ค้า
โดยระบบการบริหารซัพพลายเชน จะแยกออกเป็น 2 ส่วน คือมหาภาคและจุลภาค โดยมหาภาค ภาครัฐจะเป็นคนดูแล ซึ่งจะมุ่งเน้นเชิงนโยบาย อาทิ การผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ฮับด้านโลจิสติกส์ ซึ่งก็จะคลอบคลุมถึงโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด อาทิ ถนนหนทาง ท่าเรือน้ำลึก คลังสินค้า สนามบิน ซึ่งในแผนพัฒนาสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ที่เริมใช้ในปี 2550 นี้ก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ รวมถึงการจัดการด้านเครือข่ายอุตสาหกรรม(Clustering Management) ซึ่งล้วนเป็นการนำไปสู่การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมในภาพรวม ก็คือการจัดการด้านซัพพลายเชนนั้นเอง ส่วนในระดับจุลภาค จะเป็นส่วนของภาคเอกชนจะเป็นคนบริหารจัดการในองค์กร โดยปัจจุบันนี้ภาคเอกชนหลายๆ ที่ให้ความสนใจในเรื่องการบริหารจัดการด้านซัพพลายเชน อาทิ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้แยกจัดตังหน่วยงานเฉพาะที่ดูแลด้านซัพพลายเชนอย่างจริงจัง
“โตโยต้า” กรณีศึกษาที่ดีด้านการบริหารจัดการซัพพลายเชน
ในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นอาจกล่าวได้ว่า“โตโยต้า” เป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับแรก ๆ ที่ถูกนำมาเป็นกรณีศึกษา ในด้านการนำเอาแนวคิดการจัดการด้านโซ่อุปทานและโลจิสติกส์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตรถยนต์ได้อย่างประสบความสำเร็จ ในประเทศไทยโตโยต้ามีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด กล่าวคือประมาณ 40% ส่วนในระดับโลกนั้น ในด้านรายได้โตโยต้าจัดอยู่ในอันดับที่สาม แต่สิ่งที่น่าสนใจคือโตโยต้ามีความสามารถในการทำกำไรเป็นอันดับที่หนึ่ง โดยได้กำไรกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปี 2004 ซึ่งมากกว่ากำไรที่บริษัทในสองอันดับแรกทำได้รวมกันเสียอีก ยิ่งไปกว่านั้นโตโยต้ายังมีจำนวนพนักงานน้อยกว่าในบริษัทน้อยกว่าทั้งสองบริษัทนั้นอีกด้วย นั่นหมายถึงโดยเฉลี่ยแล้วพนักงานหนึ่งคนในโตโยต้าสามารถทำกำไรให้แก่บริษัทได้สูงกว่า พนักงานในบริษัทผลิตรถยนต์อื่นๆ อีกด้วย
แนวคิดสำคัญอย่างหนึ่งของโตโยต้าที่นำมาใช้ในการจัดการด้านโลจิสติกส์และการผลิตคือระบบ Just-In-Time (JIT) หรือที่เรียกว่าระบบ Zero inventory หรือ Kanban “Produce only necessary items in a necessary quantity at a necessary time” คือนิยามของ JIT ตามความหมายของโตโยต้า หากจะเปรียบไปแล้วปริมาณสินค้าคงคลัง (Inventory) เปรียบเสมือนระดับความสูงของแม่น้ำ ในยามที่น้ำในแม่น้ำขึ้นสูง เราจะไม่สามารถมองเห็นก้อนหินต่าง ๆ ที่อยู่ใต้น้ำได้ แต่เมื่อแม่น้ำนั้นแห้งลง เราก็จะสามารถมองเห็นก้อนหินเหล่านั้น ได้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกัน ในกระบวนการผลิต สินค้าคงคลังจำนวนมาก ก็จะบดบังปัญหาต่าง ๆ ในกระบวนการผลิตเอาไว้ หากเราต้องการที่จะเห็นปัญหาเหล่านั้น ได้อย่างชัดเจนขึ้น
ระบบ JIT นี้ถือว่าสินค้าคงคลังที่ไม่ต้องการ ณ ขณะนั้น จัดเป็นของเสีย (Waste) ซึ่งจะบดบังปัญหาอื่น ๆ ในกระบวนการผลิต ยิ่งมีสินค้าคงคลังน้อยลงเท่าใด ยิ่งจะทำให้เวลาในการผลิตนั้นน้อยลง เพิ่มความยืดหยุ่นในกระบวนการผลิต และเพิ่มคุณภาพของการผลิตให้สูงขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าคงคลังที่น้อยลง ทำให้สามารถชี้ปัญหาได้รวดเร็วและใกล้เคียงกับต้นตอของปัญหามากขึ้น
ญี่ปุ่นเล็งลงทุนด้านโลจิสติกส์ในไทยมากขึ้น
มร.อาซึโอะ คูโรดา ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น กล่าวว่า บริษัทโลจิสติกส์ในญี่ปุ่นมีแนวโน้มเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีอยู่ 69 บริษัท ซึ่งต่างเป็นบริษัทโลจิสติกส์ชั้นนำของญี่ปุ่นที่เข้ามาร่วมลงทุนทำธุรกิจโลจิสติกส์ในไทย จากรายงานพบว่า บริษัทโลจิสติกส์จากญี่ปุ่นมีความต้องการที่จะทำโกดังเก็บของ หรือ Ware house เพิ่มมากขึ้นซึ่งคาดการณ์ว่าการเข้ามาในอนาคตของบริษัทญี่ปุ่นจะเข้ามาอย่างเต็มตัว ทั้งนี้ สาเหตุที่ประเทศไทยกำลังเป็นที่ดึงดูดใจของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของญี่ปุ่นนั้น มาจากการที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้รวมตัวกันเปิดประเทศให้เป็นเหมือนกับ Single market ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงมาเป็นการใช้ระบบผลิตเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศ เช่น อาจจะผลิตชิ้นส่วนที่เวียดนาม และอาจส่งมาประกอบที่ไทย เพราะทางผู้ผลิตต้องหาแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำที่สุดอันเนื่องมาจากการแข่งขันที่รุนแรง และคาดว่ากระแสการแข่งขันหาแหล่งการผลิตราคาต่ำนี้จะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การลงทุนโลจิสติกส์น่าสนใจเพิ่มขึ้นไปด้วย
การจัดการซัพพลายเชนในภูมิภาคเอเซีย
ทุกประเทศกำลังหันมามองเรื่องต้นทุนเป็นหลักให้การเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขัน ปัจจุบันประเทศไทยมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์อยู่ที่ 20% ในขณะที่ประเทศที่เป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 9% ญี่ปุ่นและยุโรป อยู่ที่ 11% สำหรับยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจอย่างประเทศจีนที่มีต้นทุนด้านโลจิสติกส์สูงกว่าประเทศไทยซึ่งปัจจุบันอยู่ที่กว่า 20% แต่สำหรับประเทศจีนเรื่องนี้ยังไม่ใช่เรื่องหลักที่จีนจะมองเนื่องจากจีนผลิตสินค้าเพื่อบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก และเมื่อไรก็ตามที่จีนมุ่งเน้นการผลิตเพื่อการส่งออก จีนคงจำเป็นต้องนำเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ
เวียดนาม ประเทศหลายคนจับตามองว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางธุรกิจในภูมิภาคนี้แทนที่ประเทศไทย โดยเวียดนามเองก็ให้ความสำคัญด้านการบริหารจัดการซัพพลายเชนไม่น้อยกว่าประเทศไทยเลย โดยพิจารณาได้จากการที่เวียดนามได้พยายามวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อที่สามารถรองรับการขยายตัวทางธุรกิจ โครงการ เมกะโปรเจคต์หลายโครงการ อาทิ การก่อสร้างรถรางไฟฟ้าขนส่งมวลชน หรือ "แทรมเวย์" (Tramway)ที่ได้เริ่มก่อสร้างแล้วและคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2553 ซึ่งเป็น 1 ใน 8 โครงการขนส่งมวลชนในเมืองหลวง ที่ทยอยก่อสร้างไปจนถึงปี 2563 หรือ ตลอด 13 ปีข้างหน้า รวมถึงการก่อสร้างสนามบินลองแท็ง (Long Thanh) หรือ “ลองทัน” ในเวียดนามภาคใต้ โดยจะมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 100 ล้านคน กับสินค้าอีกปีละ 5 ล้านตัน โดยจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2554 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า และที่สำคัญเวียดนามยังใส่ใจเรื่องการศึกษามากขึ้นโดยมีมหาวิทยาลัย กว่า 400 มหาวิทยาลัย เป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก และกำลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 600 มหาวิทยาลัยภายใน 2 ปีข้างหน้า นั้นหมายถึงเวียดนามเน้นเรื่องการสร้างคน ในอนาคตอันใกล้เวียดนามไม่อยากมีรายได้แค่ค่าจ้างแรงงานราคาถูกอีกต่อไป
ทั้งนี้ จากตัวอย่างในข้างต้นคงทำให้คลายความสงสัยลงบ้างแล้ว โดยบริษัทชั้นนำเหล่านี้ต่างๆ พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าซัพพลายเชนคือหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะนำองค์กรก้าวสู่ความเป็นผู้นำทางธุรกิจ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น