วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โรงเรียนธุรกิจ ในฐานะผู้ผลิตทั้งหลักสูตรและมหาบัณฑิตเอ็มบีเอ ต้องต่อสู้ยุคไร้พรมแดน








โลกไร้พรมแดนกำลังทำให้องค์กรธุรกิจ และนักบริหารรุ่นใหม่ในประเทศไทย
เผชิญกับรูปแบบความร่วมมือ และการแข่งขันทางธุรกิจ ตลอดจนการจ้างงานที่เปลี่ยนไป ความหวังจึงพุ่งมาที่โรงเรียนธุรกิจในท้องถิ่น ว่าจะปรับตัวตามกระแสโลกทันหรือไม่ และในชั้นเรียนเอ็มบีเอจะมีความรู้ใหม่ๆ อะไรมาช่วยพวกเขาได้บ้าง

กว่า 1 ปีแล้วที่ นภดล สหมิตรมงคล อดีตพนักงานวิเคราะห์สินเชื่อของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยวัย 26 ปี ตัดสินใจหันหลังให้กับภาระหน้าที่เพื่อกลับมาเป็นนักศึกษาอีกครั้งในโครงการบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หรือเอ็มบีเอของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เป้าหมายในอนาคตหลังจากจบการศึกษาในอีก 5 เดือนข้างหน้าก็คือ การนำความรู้ด้านการตลาดและการจัดการเชิงกลยุทธ์ที่เรียนมาเป็นใบเบิกทาง เพื่อข้ามมาสู่สายอาชีพใหม่ที่เขามองว่าท้าทายและเหมาะกับบุคลิกชอบวางแผนของตนเอง นั่นคือนักวางกลยุทธ์การตลาดขององค์กรธุรกิจระดับนานาชาติในต่างประเทศ ที่เปิดโอกาสให้เติบโตไปสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงได้ “ที่สำคัญคือผมต้องการพิสูจน์ตัวเองว่าจะนำความรู้เอ็มบีเอที่เรียนมา เพื่อก้าวไปแข่งขันกับตลาดแรงงานระดับนานาชาติได้เพียงใด” เขากล่าว

การตัดสินใจของนภดล คงไม่ใช่รายเดียวของพนักงานมืออาชีพรุ่นใหม่ เพราะในเวลาเดียวกันนี้ เพื่อนร่วมรุ่นของเขาที่วางแผนมุ่งสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพอย่าง วรนล สามโกเศศ กรรมการผู้จัดการ วัย 27 ปี ที่รับช่วงธุรกิจสนามกอล์ฟต่อจากครอบครัว ก็กำลังต้องการความรู้จากหลักสูตรเอ็มบีเอมาใช้บริหารธุรกิจเช่นกัน “ทุกวันนี้มีสนามกอล์ฟใหม่ๆ ที่มีการบริหารอย่างทันสมัยเกิดขึ้นมากมาย แม้ธุรกิจจะเลี้ยงตัวเองได้ แต่สิ่งที่ผมต้องการก็คือความรู้เพื่อนำมาต่อยอดให้ธุรกิจมีบริการน่าสนใจและเป็นระบบมากขึ้น” วรนลกล่าว

โรงเรียนธุรกิจไทยที่มีอยู่ช่วยได้แค่ไหน?
แม้หลักสูตรเอ็มบีเอจะถูกมองว่าเป็นทางออกยอดนิยมที่เข้ามาช่วยในการจัดการธุรกิจ และได้มีการเรียนการสอนในประเทศไทยมาถึง 4 ทศวรรษแล้วก็ตาม แต่เป้าหมายการเปิดหลักสูตรในเชิงธุรกิจการศึกษามักก่อให้เกิดคำถามถึงคุณภาพของหลักสูตร ทั้งข้อกำหนดในการคัดเลือกผู้สมัคร รูปแบบการเรียนการสอน ตลอดจนมหาบัณฑิตที่จบออกมา

การเปิดหลักสูตรโดยใช้ความต้องการของตลาดแรงงานเป็นตัวตั้งอาจไม่ใช่เรื่องยาก เพราะความต้องการผู้จัดการ และผู้ประกอบการมืออาชีพยังคงมีอยู่เสมอ แต่การจะผลิตบัณฑิตให้ออกมามีคุณภาพสามารถเข้าใจสภาพที่เป็นทางธุรกิจนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง หากโรงเรียนธุรกิจไม่อาจนำผู้เรียนก้าวไปสู่เป้าหมายการทำงานที่แท้จริง แนวโน้มที่บุคคลนั้นจะประสบความพ่ายแพ้เมื่อต้องเข้าสู่สนามธุรกิจ และตลาดแรงงานระดับบริหารที่เต็มไปด้วยการแข่งขันก็ย่อมสูงขึ้น

“ที่ผ่านมาพื้นฐานการสอนที่เน้นความปลอดภัย ให้คนจบแล้วมีงานทำ หลีกเลี่ยงงานยากๆ กลายเป็นสาเหตุของการปรับใช้สิ่งที่เรียนมากับโลกที่เป็นจริงไม่ได้ หรือเป็นอาการขาดความรู้ และขาดการให้ความรู้ด้านเอ็มบีเอที่ดีพอ” ดร. กิตติ โพธิ์กิตติ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญกล่าว

ดังนั้น เมื่อความไร้พรมแดนทำให้โลกธุรกิจก้าวมาถึงยุคของการร่วมมือ และแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้นขึ้น การรับสมัครพนักงานให้ได้ตรงตามที่คาดหวัง จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กรธุรกิจเช่นกัน เสียงสะท้อนจากกลุ่มธุรกิจในฐานะผู้ว่าจ้าง หรือรอใช้ประโยชน์จากสินค้าที่โรงเรียนธุรกิจผลิตออกมา จึงกลายเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญ ที่จะบอกว่าโรงเรียนธุรกิจและมหาบัณฑิตนั้นดีพอหรือไม่ “เราให้การยอมรับผู้จบเอ็มบีเอจากโรงเรียนธุรกิจชั้นนำระดับโลกมากมาย แต่มีโรงเรียนธุรกิจไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่เราให้การยอมรับ” มนูญ สรรค์คุณากร ผู้อำนวยการสำนักงานการบุคคลกลาง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าว

ทางออกจึงขึ้นอยู่กับโรงเรียนธุรกิจ ในฐานะผู้ผลิตทั้งหลักสูตรและมหาบัณฑิตเอ็มบีเอว่าจะรักษาปรัชญาในการเป็นเครื่องมือและมอบองค์ความรู้ เพื่อช่วยให้ธุรกิจและแรงงานรุ่นใหม่ในท้องถิ่นสามารถปรับตัวเพื่อทำความเข้าใจและรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่จะตามมาได้อย่างไร “วิกฤติเป็นทั้งกรณีศึกษาและโอกาสในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ได้อย่างดี” ซันจิบ ซับบา ผู้อำนวยการหลักสูตรเอ็มบีเอ มหาวิทยาลัยเว็บสเตอร์ ศูนย์การศึกษากรุงเทพกล่าว

ปรับตัวด้วยการสร้างเครือข่ายพันธมิตรระดับโลก
แม้จะทราบดีว่าธุรกิจและการจ้างงานจะมีระดับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น แต่ความปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็ว ก็เป็นสิ่งที่ผู้บริหารรุ่นใหม่ต้องการเช่นกัน คนเหล่านี้จึงตัดสินใจเข้ามาเติมความรู้จากหลักสูตรเอ็มบีเอในที่สุด แต่ด้วยสถานการณ์ของโลกไร้พรมแดน โรงเรียนธุรกิจจึงต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าจะทำความคาดหวังดังกล่าวให้เป็นจริงมากที่สุดได้อย่างไร

การก้าวสู่ปีที่ 25 ของโรงเรียนธุรกิจศศินทร์เป็นตัวอย่างที่ดี ด้วยการเลือกวิธีสร้างหลักสูตรให้ได้มาตรฐานสากลด้วยการเป็นโรงเรียนธุรกิจนานาชาติ และจับมือเป็นพันธมิตรกับโรงเรียนธุรกิจชั้นนำระดับโลกของอเมริกาได้สำเร็จมาตั้งแต่ก่อตั้งสถาบันในปี 1982 อาทิ เดอะ วาร์ตัน สคูล, ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ เพนซิลวาเนีย และเคลลอกก์ สคูล ออฟ แมเนจเม้นท์, นอร์ธเทิร์น ยูนิเวอร์ซิตี้ “ทั้งนี้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหลักสูตรและผู้เรียนได้เข้าถึงความรู้ทางธุรกิจระดับโลก ที่จะพาพวกเขาไปสู่ความสำเร็จในอนาคต” ศาสตราจารย์ เติมศักดิ์ กฤษณามระ ผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว

ทุกวันนี้จึงมีผู้เรียนรุ่นแล้วรุ่นเล่าของศศินทร์ต่างแข่งขันกันเพื่อชิงกันลงทะเบียนไปเก็บหน่วยกิตข้ามสถาบัน นั่นหมายถึงโอกาสไปเปิดโลกทัศน์ร่ำเรียนวิชาเอ็มบีเอในห้องเรียนสถาบันชั้นนำระดับโลก 1 เทอม “ผู้เรียนที่นั่นมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างจริงจังมากจนแทบจะแย่งกัน อาจารย์ต้องทำงานปรับเปลี่ยนเนื้อหาตลอดเวลา กรณีศึกษาที่ใช้เรียนก็ทันสมัยมีการนำมาวิเคราะห์ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นไม่นานนัก” คณิสร์ แสงโชติ นิสิตเอ็มบีเอของโรงเรียนธุรกิจศศินทร์ ผู้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปนั่งในห้องเรียนการตลาดกับ ฟิลิป คอทเลอร์ ถึง เคลลอกก์ สคูล ออฟ แมเนจเม้นท์มาหมาดๆ กล่าว ซึ่งแน่นอนว่าประสบการณ์ดังกล่าว เป็นความใฝ่ฝันของผู้เรียนซึ่งเป็นว่าที่ผู้บริหารยุคใหม่ในท้องถิ่นอีกหลายๆ คน

การแลกเปลี่ยนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ระดับผู้เรียนเท่านั้น เพราะแม้แต่คณาจารย์จากสถาบันระดับโลกเหล่านั้น ก็ถูกเชิญมาสอนถึงเมืองไทยในบางเทอมเช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่ในบางเทอมจะมีนักศึกษาจากโรงเรียนธุรกิจชั้นนำเหล่านั้นตามติดมาลงทะเบียน เก็บหน่วยกิตข้ามสถาบันเช่นกัน “เพื่อนที่ เคลลอกก์ สคูล ออฟ แมเนจเม้นท์บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้เรียนศศินทร์โชคดี เพราะได้เรียนกับอาจารย์ระดับโลก ขนาดที่นั่น ยังต้องใช้คะแนนทดสอบเพื่อแข่งกันเข้าเรียนในบางวิชาด้วยซ้ำ” คณิสร์กล่าว

นอกจากพันธมิตรในหมู่สถาบันการศึกษาแล้ว พันธมิตรที่เป็นองค์กรธุรกิจก็สำคัญมากเช่นกัน วัตถุประสงค์ก็เพื่อเป็นการเสริมสิ่งที่โรงเรียนธุรกิจยังขาดแคลน นั่นคือกรณีศึกษาทางธุรกิจและวิทยากรนักธุรกิจผู้มากประสบการณ์ที่จะมาให้คำปรึกษา และเป็นแหล่งฝึกอบรมการทำงานจริง ขณะที่องค์กรธุรกิจจะมีโอกาสสังเกตศักยภาพของผู้เรียนซึ่งจะเพิ่มโอกาสการมีงานทำ และได้คนตรงกับงานด้วย “หลายสถาบันเริ่มเชิญบุคลากรจากภาคธุรกิจให้เข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการหลักสูตร เพื่อให้คำปรึกษาในการพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี” มนูญกล่าว

ในอนาคตการร่วมมือกันของสถาบันการศึกษากับองค์กรธุรกิจจึงต้องมีความใกล้ชิด และเป็นกระจกสะท้อนซึ่งกันและกันตลอดเวลา “ที่สำคัญ ต้องก้าวไปทำความร่วมมือกับองค์กรแห่งโลกให้มากขึ้นด้วย” ดร. กิตติกล่าว

ปรับหลักสูตรแบบสหวิชาการ-เน้นกรณีศึกษา
เมื่อมีอาจารย์และนักศึกษาต่างประเทศเข้ามามากขึ้น บรรยากาศการเรียนการสอนแบบนานาชาติย่อมเกิดขึ้น สุดท้ายแล้วก็จะเป็นทางลัดในการเพิ่มพูนประสบการณ์ และสร้างความเข้าใจแนวทางการบริหารธุรกิจภายใต้การเปลี่ยนแปลงของกลไกตลาดโลกให้กับผู้เรียน การบ้านที่สถาบันในท้องถิ่นต้องทำก็คือ การมองแนวโน้มธุรกิจโลกว่ากำลังจะไปในทิศทางใด

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ในแวดวงเอ็มบีเอเท่านั้น ปัจจุบันทุนและแรงงานจากทั่วโลกกำลังเคลื่อนย้ายมาสู่โลกตะวันออกที่เป็นโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ อย่างอินเดีย จีน หรือแม้แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น นักธุรกิจเหล่านี้จึงต้องการความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับหลักการดำเนินธุรกิจ หรือพฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งแนวทางของรัฐบาลในภูมิภาคเหล่านี้ให้ดีขึ้นเช่นกัน “การบ้านของหลักสูตรเอ็มบีเอในท้องถิ่นก็คือการสร้างเนื้อหาที่สอดรับกับทิศทางดังกล่าว โดยอิงกับมาตรฐานการศึกษาระดับโลก” กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว

จุดได้เปรียบที่พูดถึงกันบ่อยๆ คือ ความได้เปรียบของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายไม่แพง มีบรรยากาศเป็นมิตร การเดินทางสะดวกสบาย “การบ้านข้อนี้โรงเรียนธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญใช้เป็นจุดดึงดูดนักศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาเรียน โดยใช้จุดเด่นของการสอนที่ใช้ภาษาต่างประเทศเป็นหลัก” ดร. กิตติกล่าว

การพัฒนาหลักสูตรถือเป็นแม่เหล็กที่ดีที่สุด ที่จะมาช่วยเสริมความน่าสนใจให้มากขึ้นอย่างโรงเรียนธุรกิจอัสสัมชัญนั้น ยังคงมุ่งรักษาสถานการณ์ผลิตหลักสูตรเอ็มบีเอเฉพาะทางต่อไป โดยมีการเปิดหลักสูตรใหม่ล่าสุดชื่อ ออแกไนเซชั่น ดิเวลอปเม้นท์ ขึ้น “หลักสูตรนี้จะเป็นการเรียนรู้ร่วมกันในองค์กรทั้งหมด ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติต่างๆ” ดร. กิตติกล่าว

การปรับตัวที่น่าสนใจอีกแนวทางหนึ่ง คือการปรับรูปแบบการเรียนใหม่ ที่เน้นการมอบความรู้หลากหลายแบบ “สหวิชาการ” แก่ผู้เรียนมากขึ้น ซึ่งเป็นการริเริ่มของโรงเรียนธุรกิจชั้นนำระดับโลกอย่าง เยล สคูล ออฟ แมเนจเม้นท์ ซึ่งโรงเรียนธุรกิจธรรมศาสตร์ได้นำมาประยุกต์ใช้บ้าง โดยการเรียนการสอนจะนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในธุรกิจเป็นแกนหลัก แล้วนำวิชาเดิมๆ ของเอ็มบีเอมาอธิบายประกอบแบบรอบด้าน เช่นวิชาบริหารการเงินก็จะต้องเรียนรู้ภาวะของตลาดใหม่ๆ การบริหารนวัตกรรม งานบุคคล ผลิตภัณฑ์การบริการ กลยุทธ์การตลาดทางการเงินด้วย “สาเหตุก็เพราะธุรกิจหนึ่งๆ ย่อมไม่ได้เผชิญปัญหาแค่เรื่องเดียว ความรู้เพียงด้านเดียวจึงไม่อาจแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง” รศ. เกศินี วิฑูรชาติ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว

ขณะเดียวกันการใช้กรณีศึกษามาเป็นส่วนประกอบในหลักสูตร กลายเป็นส่วนสำคัญต่อการเรียนการสอนเอ็มบีเอในปัจจุบันอย่างมาก แต่การใช้กรณีศึกษามาเป็นสิ่งกระตุ้นในการพัฒนาหลักสูตรนั้น ได้กลายเป็นจุดเน้นพิเศษของโรงเรียนธุรกิจเว็บสเตอร์ จุดเปลี่ยนนี้เริ่มขึ้นในปี 2001 จากกรณีการล้มละลายของเอนรอนในสหรัฐฯ ที่ทำให้เว็บสเตอร์ปรับปรุงหลักสูตรโดยเสริมความรู้ด้านกรณีศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะกรณีศึกษาเรื่องธรรมาภิบาลที่ยังคงเป็นจุดเน้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้เรียนจะต้องผ่านการฝึกเป็นผู้บริหารที่ดีด้วยเกมเสมือนที่ชื่อ แคบสโตน ซิมูเลชั่น และการทำแผนธุรกิจก่อนจบการศึกษาอีกด้วย

เมื่อโลกเปลี่ยนไป โรงเรียนธุรกิจต้องตามให้ทัน
ความเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับสากล ซึ่งกล่าวได้ว่ามีส่วนมาจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร รวมทั้งทัศนคติต่อการทำงานของคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับอดีตจะพบว่า คนยุคเบบี้บูมเมอร์ที่เติบโตขึ้นมาด้วยการทำงานหนักตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกษียณตัวเองไปแล้ว ขณะที่ยุคของเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ที่เติบโตตามมาจากการทำงานด้วยความเชี่ยวชาญก็กำลังจะหมดไป จนเข้าสู่ยุคของผู้บริหารรุ่นสหัสวรรษใหม่ที่เติบโตด้วยความคิดสร้างสรรค์ ฉีกกฎเกณฑ์เดิมๆ “ทุกวันนี้เรามีซีอีโอรุ่นหนุ่มเกิดขึ้นมากมาย และพวกเขาส่วนใหญ่ก็ต้องการความรู้ที่ช่วยพาไปสู่ความสำเร็จได้ในเวลาที่รวดเร็ว” ซันจิบกล่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นผลพวงทั้งทางตรงและทางอ้อมของกระแสโลกไร้พรมแดนที่กำลังทำหน้าที่เชื่อม ระบบเศรษฐกิจแต่ละท้องถิ่นบนโลกใบนี้ให้แนบสนิทและเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็จะพบว่าทุนดำเนินธุรกิจและแรงงานมืออาชีพก็เดินทางไปมาได้ทั่วโลกจนทำให้ข้อกังวลในเรื่อง สัญชาติขององค์กร หรือความแตกต่างทางวัฒนธรรมดูจะกลายเป็นเรื่องที่สำคัญรองลงไป “การเคลื่อนย้ายของทุนจำนวนมหาศาล ที่องค์กรจากหลายๆ ประเทศลงทุนมาอย่างต่อเนื่องกำลังทำให้องค์กรเหล่านั้นกลายเป็นองค์กรของโลกไปแล้ว” กิตติรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้เมื่อมองเข้าไปในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไร้พรมแดน ก็จะพบระบบความสัมพันธ์เชิงธุรกิจที่สลับซับซ้อน ตั้งแต่การดูแลลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ในท้องถิ่น ความร่วมมือของธุรกิจต่อธุรกิจ ข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศ ไปจนถึงระดับเขตเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค ซึ่งเป็นทั้งโอกาสทางธุรกิจ ประสบการณ์แห่งวิชาชีพ และแน่นอนว่ามันคือการแข่งขันที่ผู้เล่นทุกคนจะต้องมีความรู้มากพอ และเข้มแข็งพอเช่นกัน “นั่นเป็นสิ่งที่โรงเรียนธุรกิจต้องเข้าใจความต้องการทั้งความรู้ของคนเหล่านี้ รวมถึงลักษณะนักบริหารรุ่นใหม่ที่ตลาดต้องการเช่นกัน” ซันจิบกล่าว

เอ็มบีเอกับก้าวที่ท้าทายสู่อนาคต
ทั้งหมดถือเป็นแนวโน้มที่จะพบเจอได้ในทศวรรษที่ 5 ของตลาดเอ็มบีเอไทย แม้จะมีส่วนดีในแง่ของการพัฒนา แต่สิ่งที่แฝงเข้ามาก็คือรูปแบบการแข่งขันที่โรงเรียนธุรกิจของไทยแห่งอื่นๆ ก็ต้องปรับตัวให้ทัน “ถึงแม้จะมีโรงเรียนธุรกิจชื่อดังอย่าง ฮาร์วาร์ด บิสสิเนส สคูล มาเปิดวิทยาเขตในประเทศไทยก็นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะเรารู้ว่ากำลังจะแข่งกับคู่แข่งระดับโลก ไม่ต่างกับเรากำลังจะตีเทนนิสกับโรเจอร์ เฟดเดอเรอร์ หรือเล่นบาสเก็ตบอลกับฮุสตัน ร็อคเก็ตต์ ที่แม้จะผูกปีแพ้ แต่มันคือประสบการณ์และการหวังที่จะไปสู่ชัยชนะอยู่เสมอ” ดร. นภดล ร่มโพธิ์ อาจารย์ประจำโครงการปริญญาโทบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว

ขณะเดียวกันการเคลื่อนพลของกองทัพพนักงานมืออาชีพที่ต้องการความท้าทาย จากประสบการณ์ความก้าวหน้ากับองค์กรระดับโลก ย่อมทำให้ตลาดแรงงานมีอัตราการแข่งขันสูงขึ้น และจะกลายเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของแรงงานของประเทศไทยในอนาคต

“ผู้เรียนเอ็มบีเอในอนาคตคงมีโจทย์ที่ยากตั้งแต่ตอนสมัครจนกระทั่งจบออกไปแล้ว และต้องเรียนหนักขึ้น แต่เชื่อว่าทิศทางแบบนี้จะยกระดับทั้งระบบการศึกษาและคุณภาพของผู้จบเอ็มบีเอเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดี” กิตติมา ลิมป์พิพัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป อดีตนักศึกษา โรงเรียนธุรกิจธรรมศาสตร์กล่าว

ห้องเรียนเอ็มบีเอในอนาคตมันจึงไม่ใช่แค่การเรียนรู้ธุรกิจ หรือการมอบความรู้เพื่อให้ผู้เรียนก้าวไปเป็นพนักงานในท้องถิ่นเท่านั้น แต่หมายถึงการก้าวไปสู่ทิศทางของโลกไร้พรมแดน การได้เพิ่มความรู้และประสบการณ์กับหลักสูตรที่ตอบคำถามดังกล่าวได้ดี ย่อมก้าวไปสู่ความสำเร็จได้รวดเร็ว มีโอกาสก้าวหน้าจากการได้สัมผัสกับเครือข่ายธุรกิจนานาชาติ หรือก้าวไปสู่การเป็นผู้บริหารองค์กรระหว่างประเทศที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งคุณลักษณะของผู้จบเอ็มบีเอที่จะประสบความสำเร็จในยุคที่การแข่งขันด้านแรงงานสูงขึ้น ย่อมแสดงให้ตลาดเห็นว่าตนเองมีความเชี่ยวชาญในงานที่ตนเองรับผิดชอบ และเข้าใจทิศทางกระแสโลกที่พิเศษกว่าคนอื่นเพียงใด “ดีภัค ซี เจน คณบดี จาก เคลลอกก์ สคูล ออฟ แมเนจเม้นท์แนะนำเราตอนมาสอนที่กรุงเทพฯ ว่าต้องสร้างความแตกต่างให้กับตนเองอยู่เสมอ” คณิสร์ แสงโชติ กล่าว สอดคล้องกับวรนล สามโกเศศ เพื่อนของเขาที่กล่าวว่า “ใช่ว่าจบเอ็มบีเอแล้วจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเสมอไป เพราะหากเพียงนำมาประดับประวัติการศึกษา แต่ไม่สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตนเองได้ ต่อให้ได้มากี่ร้อยเอ็มบีเอก็คงไม่ช่วยอะไร”

ความเห็นจากผู้ประกอบการ
มนูญ สรรค์คุณากร ผู้อำนวยการสำนักงานการบุคคลกลาง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
แม้เราไม่มีนโยบายให้ผู้เรียนออกไปศึกษาเอ็มบีเอในประเทศ แต่การที่พนักงานจะไปศึกษาต่อเอ็มบีเอที่อื่นๆ นับว่าเป็นสิ่งดีในการเปิดมุมมองด้านการบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพ แต่สำหรับเราแล้วไม่ถือว่าพนักงานจะนำมาเป็นข้อเสนอเพื่อปรับเงินเดือนหรือความก้าวหน้าของงานแต่อย่างใด นอกจากจะเป็นไปตามเงื่อนไขหลักสูตรอบรมภายในตามที่เรากำหนด และเป็นไปตามนโยบายองค์กรคือต้องการให้พนักงานรับรู้ว่าสามารถเติบโตจากภายในองค์กรได้ เพราะบริษัทมีองค์ความรู้ที่เหมาะสม มีมาตรฐานเพราะได้รับการพัฒนาหลักสูตรทุกระดับจากสถาบันการศึกษาชั้นนำ ทั้งวาร์ตัน, เคลลอกก์, ฮาร์วาร์ด, ชิคาโก และโคลัมเบีย ซึ่งเป็นเบื้องหลังฉากความสำเร็จที่นำพาองค์กรมาสู่วันนี้

โรงเรียนธุรกิจไทยจะก้าวไปบนโลกไร้พรมแดนอย่างไร
แม้จะเป็นเรื่องของการศึกษา แต่โลกไร้พรมแดนก็ทำให้วิชาความรู้อย่างเอ็มบีเอกลายเป็นธุรกิจชนิดหนึ่ง ตราบเท่าที่โลกธุรกิจ และการจ้างงานนักบริหารมืออาชีพยังต้องมีการแข่งขันกันอยู่ โรงเรียนธุรกิจในฐานะผู้ผลิตหลักสูตร และผลิตสินค้าอย่างมหาบัณฑิต ก็ต้องงัดกลยุทธ์มาแข่งขันเพื่อดึงดูดใจผู้สมัคร และตอบสนองความต้องการของโลกธุรกิจ และตลาดแรงงานเช่นกัน


ธรรมศาสตร์รุกจับมือพันธมิตรระดับโลก !
ในปี 2006 โรงเรียนธุรกิจธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นไทยโรงเรียนธุรกิจรุ่นบุกเบิกของไทย เดินทางไปลงนามพันธมิตรระดับโลกรายล่าสุดอย่างมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ดแห่งสหรัฐฯ เพื่อบันทึกความเข้าใจ ซึ่งเป็นการปูทางให้ผู้เรียนหลักสูตรเอ็มบีเอนานาชาติและเอ็มบีเอทั่วไปของตน มีโอกาสไปเยือนห้องเรียนนวัตกรรมเชิงธุรกิจ และการบริหารความเสี่ยงถึงถิ่สนแตนด์ฟอร์ด รวมทั้งไปเยี่ยมชมบริษัทชั้นนำใน ซิลิคอน วัลเล่ย์

ความร่วมมือนี้ยังเป็นประโยชน์ต่องานด้านอื่นๆ เช่น การพัฒนาการสอนผ่านการทำการอบรมกึ่งปฏิบัติการร่วมกันของคณาจารย์ทั้ง 2 ฝ่าย หรือการพัฒนาเนื้อหาในสาขาวิชาใหม่ๆ เช่น สาขาผู้ประกอบการระดับโลก ในหลักสูตรเอ็มบีเอนานาชาติของธรรมศาสตร์ที่จากเดิมมีอยู่แล้ว 2 สาขา คือ เน้นธุรกิจจีน และเน้นธุรกิจญี่ปุ่น “จำนวนเครือข่ายพันธมิตรกับสถาบันทั่วโลกกว่า 80 แห่งถือเป็นการทำการบ้านที่หนักมากของเรา เพื่อก้าวไปสู่โรงเรียนธุรกิจระดับคุณภาพ” รศ. เกศินี กล่าว


เว็บสเตอร์ ใช้เครือข่ายวิทยาเขต 8 ประเทศ !
โรงเรียนธุรกิจเว็บสเตอร์ สถาบันจากเมืองเซ็นต์หลุยส์ มลรัฐมิสซูรี สหรัฐฯ เข้ามาเปิดศูนย์การศึกษาเอ็มบีเอที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 1999 ดึงดูดความสนใจด้วยการมอบปริญญาอเมริกันแท้ๆ ที่ถือเป็นใบเบิกทางสู่ตลาดโลกอย่างดี พร้อมทั้งสร้างบรรยากาศการเรียนอย่างนานาชาติแบบเข้มข้น คือให้นักศึกษาต่างประเทศ 85% จากจำนวนผู้เรียนรวมไม่เกิน 15 คนต่อห้อง

ในขณะที่โรงเรียนธุรกิจอื่นๆ สร้างความเข้มแข็งให้ตนเองด้วยการร่วมมือกับสถาบันระดับนานาชาติ แต่เว็บสเตอร์ สามารถใช้ประโยชน์เครือข่ายวิทยาเขตที่กระจายอยู่ใน 8 ประเทศทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ ไทย จีน อังกฤษ เนเธอแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรีย และเกาะแฮมิลตัน ได้อย่างเต็มที่ ทั้งเพื่อการพัฒนาหลักสูตร เป็นฐานข้อมูลทางธุรกิจของแต่ละภูมิภาค และให้ผู้เรียนเลือกเรียนวิชาที่ตนเองสนใจได้ทั้งแบบลงทะเบียนไปเรียนที่ต่างวิทยาเขต หรือเรียนแบบออนไลน์ “นี่เป็นการเตรียมตัวอย่างดีสำหรับผู้เรียนที่จะก้าวไปร่วมงานกับองค์กรที่หลากหลายวัฒนธรรม” ซันจิบ กล่าว

เขียนโดย สยามภูมิ สังวรชาติ,บิสสิเนสวีค ไทยแลนด์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น