 |
รถสเตชั่นวากอน อีซูซุรุ่นแรก ที่นายห้างวิเชียรดัดแปลง เมื่อปี พ.ศ. 2522 จุดเริ่มต้นของการดัดแปลงรถที่ประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา |
|
 |
ในช่วงแรกที่ตั้งบริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด นายห้างวิเชียรและคุณปราณีต้องทำงานอย่างหนักหามชนิดรุ่งหามค่ำ กว่าจะกลับบ้านก็ดึกดื่นเที่ยงคืน ทำงานแบบไม่มีวันหยุดเลยก็ว่าได้ นอกจากนั้นคุณปราณีจะปลูกฝังให้ลูกๆ ได้เรียนรู้เรื่องการทำงานของพ่อแม่ตั้งแต่ยังเด็ก เช่นในช่วงวันหยุดเรียนอย่างวันเสาร์-อาทิตย์ เธอมักจะพาลูกชายสองคน คือ ชาตรีและสมพงษ์ไปโรงงานด้วยเสมอ จึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้งานและปัญหาต่างๆ พร้อมทั้งรับรู้ถึงความยากลำบากและปัญหาของพ่อแม่ตั้งแต่เล็กๆ และเมื่อเติบโตขึ้น ช่วงเรียนมัธยมปลาย นายห้างวิเชียรและคุณปราณีก็ส่งสมพงษ์ไปเรียนภาษาอังกฤษในช่วงซัมเมอร์ที่ประเทศอังกฤษ เพราะมองว่าภาษาเป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินธุรกิจในอนาคต
|
 |
โฉมหน้าของรถสเตชั่นวากอนรุ่น KB ที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากอีซูซุ |
|
 |
หลังจากนั้นนายห้างวิเชียรก็มักจะหนีบเอาสมพงษ์ไปพบกับลูกค้าชาวญี่ปุ่นด้วยเสมอๆ ซึ่งก็มีส่วนช่วยให้สมพงษ์ได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจของพ่อแม่มากยิ่งขึ้น ทั้งยังได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษและพอจะมีส่วนช่วยแปลและสื่อสารให้พ่อแม่ได้ตามสมควร เพราะทั้งพ่อและเม่ต้องทำมาค้าขายกับคนญี่ปุ่นโดยไม่รู้ภาษาอังกฤษหรือญี่ปุ่นเลย และเป็นเช่นนี้เรื่อยมาตลอดตั้งแต่ช่วงที่สมพงษ์เรียนที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การได้มีโอกาสช่วยเป็นล่ามให้นายห้างวีเชียรในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ ทำให้สมพงษ์ได้เห็นว่า แม้นายห้างวิเชียรจะไม่รู้หนังสือไทย อ่านเขียนไม่ได้แต่ก็มีพรสวรรค์ในการสื่อสารกับคนต่างชาติได้อย่างราบรื่น ด้วยวิธีการที่เป็นเฉพาะตัวของเขาเอง
|
 |
ต้นแบบของมินิบัสยุคแรกๆ ที่ต่อมามีผู้ลอกเลียนมาผลิตจำหน่ายเป็นจำนวนมากและปัจจุบนไทยรุ่งฯ ได้เลิกผลิตไปแล้ว |
|
 |
เช่น นายห้างจะพยายามใช้คำพูดง่าย และเขียนรูปประกอบคำพูด บวกกับท่าทางที่ใช้อธิบายหรือบางทีก็จะเขียนตัวหนังสือจีนแทนคำสื่อสาร และในระหว่างการสนทนานั้นนายห้างก็จะพยายามคิดทายใจคนที่สนทนาด้วยว่าอีกฝ่ายจะโต้ตอบอย่างไร ทำให้คุยกับคนเหล่านี้ได้รู้เรื่องโดยตลอดแม้ว่าไม่มีใครช่วยแปลภาษาให้ก็ตาม ระหว่างปี 2516-2522 กิจการของไทยรุ่งฯ เติบโตขึ้นมาเป็นลำดับ ด้วยการดัดแปลงรถประเภทต่างๆ มากมายภายใต้ฝีมือการออกแบบของนายห้างวิเชียร อาทิ ดัดแปลงรถบรรทุกให้เป็นมินิบัส ทำรถซูเปอร์แต๋นให้ชาวไร่ชาวนาใช้ประโยชน์ได้อย่างปลอดภัย ผลิตรถบรรทุกยี่ห้อ “ชีต้า” ซึ่งเป็นรถบรรทุกยี่ห้อแรกของคนไทย สร้างรถตู้อีซูซุบัดดี้จากโครงสร้างรถปิกอัพ เป็นต้น
|
 |
โฉมหน้าของรถซูเปอร์แต๋นรุ่นแรกๆ หนึ่งในความภูมิใจของนายห้างวิเชียร ที่สามารถช่วยให้ชาวไร่ชาวนาได้ใช้รถในราคาประหยัดแต่มีประโยชน์สูง |
|
 |
จนกระทั่งในปี 2522 ไทยรุ่งฯ สร้างความฮือฮาให้วงการรถยนต์ด้วยการผลิดรถปิกอัพดัดแปลงสองตอน 4 ประตูออกจำหน่ายหรือที่รู้จักกันในชื่อ “ดับเบิ้ล แค็บ” นับเป็นก้าวแรกของการเป็นรถอเนกประสงค์พันธุ์ไทย ความสำเร็จของรถกระบะดัดแปลง 2 ตอน 4 ประตู ที่ใช้เครื่องยนต์อีซูซุ 2000 ซีซี 79 แรงม้า ท้ำให้สถานะของไทยรุ่งฯ ในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนบริษัทคนไทยเริ่มไม่ธรรมดา โดยเฉพาะฝ่ายญี่ปุ่นในฐานะผู้กุมตลาดรถยนต์เมืองไทยนั้นจับตามองอย่างใกล้ชิด จากรถ “ดับเบิ้ล แค็บ” นายห้างวิเชียรคิดไกลไปถึงความจำเป็นในการใช้รถของคนจำนวน 10-12 คนพร้อมๆ กัน นายห้างจึงทดลองทำรถตู้ขึ้นมาใช้งานในปี 2526 ซึ่งก็สำเร็จออกมาเป็นรถตู้ “ทีแอลดี” (TLD) โดยดัดแปลงมาจากรถบรรทุกอีซูซุรุ่น TLD หรือที่เรียกว่ารถตู้ขนมปังปอนด์ตามรูปร่างหน้าตาของมัน ซึ่งตลาดให้การตอบรับค่อนข้างดีเช่นกัน
|
ฝ่ายญี่ปุ่นนั้นคงเห็นท่าไม่ดีว่า ไทยรุ่งฯ ทำท่าจะแข็งแกร่งขึ้นทุกวัน ซึ่งอาจเป็นได้ว่าวันหนึ่งจะสามารถเปลี่ยนตัวเองจากคู่ค้ากลายเป็นคู่แข่งขันที่น่ากลัวได้ ก็เลยเริ่มปรับกลยุทธ์ด้วยวิธีการต่างๆ ที่ทั้งเอื้อประโยชน์และสร้างรอยแผลใจให้กับนายห้างวิเชียร โดยเมื่อรถตู้ทีแอลดีเริ่มออกสู่ตลาดใหม่ๆ นั้น ฝ่ายญี่ปุ่นมาขอให้ไทยรุ่งฯ ผลิตตามออเดอร์จำนวนมากโดยรับปากว่า จะทำตลาดเองทั้งหมด ซึ่งหากดูตามแผนแล้วการผลิตสินค้าล็อตนี้สามารถสร้างงานได้จำนวนมหาศาล เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ขณะนั้น “รถดับเบิ้ล แค็บ” ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนผลิตแทบไม่ทันความต้องการอยู่แล้วเมื่อเห็นทางญี่ปุ่นสนใจรถตู้ดัดแปลงมากขนาดนั้น นายห้างวิเชียรก็สั่งขยายกำลังการผลิตเลย พร้อมกับสั่งอะไหล่มาเตรียมไว้ประกอบรถตู้ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
|
ปรากฎว่า จู่ๆ ทางญี่ปุ่นก็ยกเลิกการสั่งซื้อไปโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงกับไทยรุ่งฯ แต่แทนที่นายห้างจะตีโพยตีพายหรือตอบโต้ฝ่ายญี่ปุ่นไปอย่างรุนแรงในฐานะผู้เสียผลประโยชน์ เขากลับใช้วิธีปิดปากเงียบและสั่งเดินหน้าผลิตต่อ เพราะได้ตัดสินใจเลือกทางที่จะให้คนงานมีงานทำ และประกอบรถออกมาให้สำเร็จไว้ก่อน ส่วนเรื่องการขายจะทำอย่างไรนั้นเอาไว้จัดการทีหลัง ประสบการณ์ของนายห้างวิเชียรในการทำธุรกิจร่วมกับญี่ปุ่นมากกว่าครึ่งศตวรรษ ทำให้เขาซาบซึ้งดีว่า ไม่มีคนต่างชาติที่ไหนจะเมืองไทยอย่างแท้จริงหรอก ทุกคนเข้ามาลงทุนก็เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทั้งสิ้น ตราบใดที่การซื้อขายยังทำกำไรและคุ้มค่า ตราบนั้นก็ยังร่วมงานกันได้ แต่เมื่อใดที่อีกฝ่ายทำท่าจะได้เปรียบหรือฝ่ายตนได้ประโยชน์น้อยลงก็จะเริ่มมีความขัดแย้งเป็นธรรมดา
|
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีปัญหาจุกจิกรบกวนหัวใจ แต่ไทยรุ่งฯ ก็ยังคงเดินหน้ารักษาสายสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้าเก่าแก่ คืออีซูซุ เอาไว้อย่างเหนียวแน่น และระหว่างนี้ก็ยังคิดค้นทำอะไรใหม่ๆ ต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง จนกระทั่งในปี 2527 ไทยรุ่งฯ ก็สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ที่ประสบความสำเร็จสูงสุด นั่นก็คือ การออกแบบดัดแปลงรถปิกอัพ “อีซูซุ สเตชั่นวากอน” โดยดัดแปลงมาจากรถกระบะอีซูซุ KB ให้เป็นรถอเนกประสงค์ขนาด 11 ที่นั่ง ซึ่งเพิ่มประโยชน์ใช้สอยอย่างเต็มพิกัด ทั้งด้านการโดยสารและการบรรทุก ซึ่งนายห้างวิเชียรเคยพูดถึงเรื่องดังกล่าวว่า “สมัยก่อนผมจนมาก อยากมีรถใช้แต่ก็ไม่มีปัญญาซื้อใช้หรอก มีแต่คิดจะทำเรื่อยไป ผมเห็นว่ารถกระบะบรรทุกที่ชาวบ้านเอาไปใช้ เขาให้คนไปนั่งโดยสารที่กระบะหลังทั้งเด็กและผู้ใหญ่นั่งกันเต็มรถ มีเพียงโครงหลังคาเอาผ้าใบมาขึง ซึ่งอันตรายมาเวลาเกิดอุบัติเหตุ ผมจึงอยากจะทำรถอเนกประสงค์ที่มีราคาถูกให้ชาวบ้านได้ใช้งาน
|
 |
รถยนต์อีซูซุ "บัดดี้" ปีพ.ศ. 2522 |
|
 |
ผมเลยมีความคิดว่าน่าจะเอารถปิกอัพมาทำเป็นสเตชั่นวากอน ตอนแรกที่ผมทดลองทำไม่มีใครเห็นด้วยกับผมเลย ญี่ปุ่นบางคนบอกกับผมว่า ผมบ้าหรือเปล่า เอารถใหม่ๆ มาดัดแปลงจะขายใครได้ ผมบอกว่า ไม่เป็นไร ผมใช้เงินผมเองไม่ได้ทำให้ใครเดือนร้อน” ในช่วงแรกๆ นั้นเมื่อทำขึ้นมาได้ก็มาเจอเรื่องภาษีอีก ต้องเสียภาษีโภคภัณฑ์ในอัตราที่สูง สมัยนั้นทางเจ้าหน้าที่บอกว่า ถ้าคุณทำได้ถึง 11 ที่นั่ง ถือเป็นรถโดยสารก็ไม่ต้องเสียภาษี นายห้างจึงต้องไปคิดใหม่เอากระบะหลังมาขุดตรงกลางให้มันลึกลงไปทั้งสองข้างก็นั่งได้ข้างละ 3 คน รวมเป็น 6 คน ข้างหน้า 2 แล้วเบาะหลังอีก 3 รวมเป็น 11 คนพอดี จึงทำให้อีซูซุ สเตชั่นวากอนขายได้ในราคาที่ไม่แพง และในช่วงนี้เองที่สื่อมวลชนเริ่มขนานนามของนายห้างวิเชียรว่าเป็น “ราชาแห่งรถกระบะดัดแปลงของเมืองไทย” โปรดติดตามต่อไปใน ย้อนรอยไทยรุ่งฯ ตอนจบ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น